วันพฤหัสบดีที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2559

ธรรมชาติของความจำ

ธรรมชาติของความจำ

ธรรมชาติของความจำ  ความหมายของความจำ ความจำเป็นที่ที่บุคคลใช้เก็บรักษาข้อมูลความรู้ต่างๆ ที่เขาได้รับจากการมีปฏิสัมพันธ์กับโลกภายนอก (Flavell, Miller, & Miller,2001)ซึ่งส่งผลให้บุคคลสามารถเรียนรู้จากประสบการณ์ในอดีต เข้าใจสิ่งต่างๆ ในปัจจุบัน และคาดการณ์ไปยังอนาคตได้ (Baddeley, 1999; Galotti, 2008)
กระบวนการจำของมนุษย์ประกอบไปด้วย 3 ขั้นตอนหลัก ได้แก่ 1. กระบวนการใส่รหัสข้อมูล (Encoding) เป็นกระบวนการประมวลและให้ความหมายกับสิ่งที่รับรู้ เพื่อที่จะสร้างตัวแทนของสิ่งนั้นขึ้นมาเก็บไว้ในระบบความจำ 2. กระบวนการเก็บจำ (Storage) เป็นกระบวนการเก็บรักษาตัวแทนของข้อมูลที่ได้รับมาให้อยู่ในหน่วยความจำ 3. กระบวนการนำข้อมูลออกมาจากระบบการจำ (Retrieval) เป็นการดึงข้อมูลที่ถูกใส่รหัสและเก็บอยู่ในหน่วยความจำออกมาใช้
ธรรมชาติของความจำมนุษย์ หากได้ลองอ่านหนังสือหรือบทความรวมถึงงานวิจัยที่ได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับความจำของมนุษย์แล้วจะเห็นว่า ธรรมชาติของความจำมนุษย์ที่พบได้ทั่วไป มักครอบคลุมรายละเอียดดังต่อไปนี้
ความจำของมนุษย์มีการทำงานตลอดเวลา โดยปกติแล้ว ในการรับรู้และเข้าใจสิ่งเร้าที่ผ่านระบบรับสัมผัสเข้ามานั้นบุคคลจะตีความสิ่งเร้าและสร้างตัวแทนของสิ่งเร้าขึ้นมาในสมอง โดยอาศัยข้อมูลที่เก็บไว้ในความจำ อย่างน้อยก็ช่วงระยะเวลาหนึ่งเพื่อที่จะให้บุคคลทำการดึงข้อมูลต่างๆ ที่เก็บบันทึกไว้ขึ้นมารวมกับข้อมูลจากการรับสัมผัส และประมวลข้อมูลทั้งหมดเข้าด้วยกันเพื่อจะรับรู้สิ่งเร้านั้นๆ เมื่อระบบรับสัมผัสของเราทำงานตลอด ความจำของมนุษย์จึงทำงานตลอดเวลา และมีการปรับข้อมูลในหน่วยความจำอยู่เสมอตามข้อมูลที่ได้รับรู้ (Baddeley, 1999) โดยPiaget (as cited in Flavell et al., 2001)ได้กล่าวถึงการปรับทางปัญญา (Adaptation) ให้เข้ากันกับสิ่งแวดล้อมที่ซับซ้อนมนุษย์ ไว้ว่า มนุษย์มีการจัดการกับข้อมูลผ่านกระบวนการ 2กระบวนการ ได้แก่ การดูดซึมเข้าสู่โครงสร้างทางปัญญา (Assimilation) และ การปรับโครงสร้างทางปัญญา (Accommodation)
ความจำของมนุษย์มีขีดจำกัด ความจำของมนุษย์มีขีดจำกัด คนเราไม่สามารถเก็บจำทุกอย่างที่รับรู้เข้ามาได้ และมีหลายงานวิจัยที่แสดงให้เห็นถึงขีดจำกัดของความจำมนุษย์ งานวิจัยคลาสสิกงานหนื่ง คือการศึกษาของ George Miller (1956)ที่ได้เขียนบทความทางวิชาการเรื่อง The Magical number seven, plus or minus two: Some limits on our capacity for processing information และเสนอว่า มนุษย์เราสามารถเก็บจำข้อมูลในความจำระยะสั้นได้เพียง 5 – 9 Chunk เท่านั้น โดย Chunk ในที่นี้คือหน่วยพื้นฐานของความจำระยะสั้น ซึ่งอาจจะเป็นข้อมูลเดี่ยวๆ หรือเป็นกลุ่มของข้อมูลก็ได้ ซึ่งหากจัดให้ Chunk เป็นกลุ่มของข้อมูล บุคคลก็มีแนวโน้มจดจำข้อมูลได้มากขึ้น แต่บุคคลก็ยังไม่สามารถให้จดจำสิ่งเร้าที่ผ่านเข้าสู่ระบบรับสัมผัสทั้งหมดได้ (Matlin, 2009)
ความจำของมนุษย์ในบางครั้ง ก็ไม่คงทนถาวร การจะรู้ว่ามนุษย์เราสามารถจำอะไรได้บ้างนั้น ดูได้จากข้อมูลหรือตัวแทนที่บุคคลนำกลับขึ้นมาจากระบบการจำ แม้ว่าจะเป็นสร้างข้อมูลขึ้นมาใหม่อีกครั้ง หากมีข้อมูลใดที่บุคคลไม่สามารถนำกลับมาได้ บุคคลดังกล่าวได้แสดงให้เห็นถึง การลืม (forgetting) และการลืมนี้เอง คือสิ่งที่บ่งบอกว่า ความจำของมนุษย์จึงไม่คงทนถาวร (Matlin, 2009) Baddeley (1999) กล่าวว่า บุคคลแรกที่ทำการศึกษาเรื่องการลืมอย่างเป็นระบบ คือ Hermann Ebbinghausในช่วงทศวรรษที่ 1880Ebbinghausเห็นว่ามีทฤษฎีเกี่ยวกับความจำเกิดขึ้นมากมาย แต่ไม่แน่ใจว่าทฤษฎีใดสามารถอธิบายความจำได้ดีที่สุดจึงได้ทำการทดสอบการจำของตนเองโดยสร้างเครื่องมือซึ่งมีลักษณะเป็นพยางค์ที่ไร้ความหมาย (nonsense syllables) ให้เขาทำการเรียนรู้และจดบันทึกอย่างระมัดมะวังเขาพบว่า หากเขามีจำนวนครั้งของการทบทวนรายการของพยางค์ที่ไร้ความหมายในวันแรกของการเรียนรู้มากขึ้น เวลาที่เขาทำการเรียนรู้ซ้ำในวันที่สองจะลดลง และเขายังพบอีกว่า ในการเรียนรู้รายการพยางค์ที่ไร้ความหมายของเขาจะมีการลืมเกิดขึ้น โดยข้อมูลจะหายไปจากระบบความจำอย่างรวดเร็วในช่วงต้นของระยะเวลาการเก็บจำ แต่การหายไปของข้อมูลจะลดลงเรื่อยๆ ตามระยะเวลาการเก็บจำที่เพิ่มขึ้น จนถึงระดับหนึ่งและจะค่อนข้างคงที่ หลังจากการศึกษาของ Ebbinghausไปอีกหลายสิบปี ก็มีงานวิจัยคลาสสิกที่สนับสนุนผลการศึกษาของเขา ในช่วงปี 1958 – 1959 การศึกษาของ Brownนักจิตวิทยาชาวอังกฤษ และ Peterson & Petersonนักจิตวิทยาชาวอเมริกาแสดงให้เห็นว่าข้อมูลที่อยู่ในระบบความจำน้อยกว่า 1 นาที โดยไม่ได้รับการทบทวนนั้น มักจะถูกลืม โดยความจำจะหายไปประมาณ 50 เปอร์เซนต์ภายในระยะเวลาเพียง 5 วินาทีเท่านั้น การศึกษาโดยใช้เทคนิคของ Brown/Peterson and Peterson ชี้ให้เห็นถึงความไม่คงทนของความจำสำหรับข้อมูลที่เข้ามาเพียงไม่กี่วินาที แต่ก็ยังมีการรบกวนการจำในรูปแบบอื่นที่แสดงให้เห็นว่าความจำของมนุษย์ไม่คงทนเช่นกัน (Matlin, 2009)
ความจำของมนุษย์โดยส่วนใหญ่มักจะถูกต้อง แต่ไม่เสมอไป โดยส่วนใหญ่แล้ว ความจำของมนุษย์มักจะเก็บจำข้อมูลที่ถูกต้อง แต่บางครั้งเราก็ได้แสดงความจำที่ผิดพลาดออกมาบ้าง ซึ่งมีงานวิจัยจำนวนมากที่แสดงให้เห็นว่า ข้อมูลที่อยู่ในรอยความจำของมนุษย์นั้นแตกต่างไปจากข้อมูลของสิ่งเร้าที่เกิดขึ้นจริง เช่นในการศึกษาคลาสสิกของ Bartlett (1932) ที่ให้ผู้รับการทดลองชาวอังกฤษอ่านตำนานพื้นบ้านของชาวอินเดียแดงเรื่อง the war of the ghost เขาพบว่าผู้รับการทดลองมีการละเลยรายละเอียดบางอย่างหรือเปลี่ยนคุณลักษณะของสิ่งของบางอย่างให้กลายเป็นสิ่งที่พวกเขาคุ้นเคยมากขึ้น นอกจากนี้ เขายังพบว่าผู้รับการทดลองมีการบิดเบือนรายละเอียดของตำนานให้เข้ากับความรู้หรือภูมิหลังของตนมากขึ้น และสิ่งที่บิดเบือนนี้มีการเปลี่ยนแปลงน้อยมากในการระลึกครั้งต่อๆ ไป ซึ่ง Bartlett (1932) ได้อธิบายผลการทดลองของเขาว่า ผู้รับการทดลองได้ใช้สกีมมาของตนในการสร้างความจำขึ้นมา ซึ่งสกีมมาของแต่ละบุคคลจะได้รับผ่านประสบการณ์ต่างๆ ในชีวิตที่ถูกจัดเก็บไว้ ดังนั้น หากเรื่องราวที่เขาได้อ่าน ไปตรงกับสกีมมาใดที่เขามีอยู่ เขาก็จะคาดคะเนถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไปตามสกีมมานั้น ทำให้เกิดการบิดเบือนเนื้อหาไปตามสกีมมานั้นๆ นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยอีกมากมายที่แสดงให้เห็นว่ามนุษย์ใช้ประสบการณ์ ความรู้ต่างๆ ที่เก็บไว้ในความทรงจำในการตีความและเก็บจำข้อมูล (เช่นการศึกษาของ ณัฏฐารีย์ ศิริวิวัฒน์ (2553), Dewherst, Holmes, &Swannell(2008), Erskine, Markham, & Howie (2002)เป็นต้น) ทำให้มนุษย์ไม่ได้บันทึกข้อมูลทุกอย่างตามข้อมูลที่เกิดขึ้นจริง แต่เป็นการบันทึกข้อมูลที่ได้สร้างขึ้นผ่านกระบวนการสร้างข้อมูลขึ้นในความจำ (constructive process) และบุคคลก็ไม่ได้นำข้อมูลออกมาจากรอยความจำเสมือนการจำลองประสบการณ์นั้นขึ้นมาใหม่ แต่เป็นการนำข้อมูลที่เรียกขึ้นมาจากรอยความจำได้มาสร้างข้อมูลขึ้นอีกครั้ง เพื่อให้กลางเป็นข้อมูลที่สมบูรณ์และเข้าใจได้ ดังนั้นเมื่อเวลาผ่านไปหรือเมื่อมีการรับข้อมูลมาใหม่ ข้อมูลในรอยความจำอาจแตกต่างไปจากเดิมมากขึ้น ผ่านกระบวนการสร้างข้อมูลขึ้นมาอีกครั้ง (reconstructive process) (Alba & Hasher, 1993; Bartlett, 1932; Flavell, et. al., 2001; Lieberman, 2004; Schacter, 1999)ดังนั้นข้อมูลที่มีอยู่ในความจำของมนุษย์นั้น จึงอาจไม่ใช่ข้อมูลที่ถูกต้องตามเหตุการณ์จริง โดยที่บุคคลนั้นไม่รู้ตัวว่าตนเองได้บันทึกข้อมูลที่ผิดพลาดไว้ และแสดงความจำที่ผิดพลาดออกมา
กล่าวโดยสรุป ธรรมชาติความจำของมนุษย์จะกล่าวไปในทำนองเดียวกันว่า ความจำของมนุษย์จะมีการทำงานอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นการทำงานเพื่อทำความเข้าใจข้อมูล หรือการปรับโครงสร้างของความรู้ที่มีอยู่ในความจำตามรายละเอียดของข้อมูลที่ได้รับรู้ นอกจากนี้ งานวิจัยมักจะแสดงให้เห็นว่าความสามารถในการจำของมนุษย์มีขีดจำกัด มากบ้าง น้อยบ้าง แตกต่างกันไป และบางครั้ง มนุษย์ก็มีการลืม ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ความจำของมนุษย์ ไม่ได้คงทนถาวรเสียทุกครั้งไป อย่างไรก็ดี ส่วนใหญ่แล้วความจำของมนุษย์มักจะถูกต้อง หากมีความผิดพลาดเกิดขึ้น ก็ผิดพลาดอย่างเป็นระบบ จนบางครั้งบุคคลดังกล่าวยังไม่ทันรู้ตัวด้วยซ้ำว่าตัวเองได้จำพลาดไป
อ้างอิงจาก
http://www.chulapedia.chula.ac.th/index.php/%E0%B8%98%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B8%8A%E0%B8%B2%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%88%E0%B8%B3

5 เทคนิคการจำแบบฉบับ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์

อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ กล่าวไว้ว่า จินตนาการสำคัญกว่าความฉลาด Imagination is more important than intelligence
หลักการนี้ได้ผ่านบทพิสูจน์มานับครั้ง ไม่ถ้วน "รอน ไวท์" เป็นผู้หนึ่งที่ท้าพิสูจน์เรื่องนี้ผ่านชีวิตจริง

17 ปีที่ผ่านมา ในขณะที่ "รอน ไวท์" เป็นนักศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งของรัฐเทกซัส สหรัฐอเมริกา เขาเป็นผู้ชายธรรมดาที่มีความฝันว่า วันหนึ่งจะมีความจำเป็นเลิศแบบไอน์สไตน์ ทันทีที่ได้ยินข่าวว่ามีการเปิดอบรมเรื่องความจำแบบ "ไอน์สไตน์" เขาจึงไม่ยอมละทิ้งโอกาสดีๆ รีบสมัครเข้าร่วมโครงการและวันนี้ "รอน ไวท์" กลายเป็นที่รู้จักของคนทั่วไปในฐานะผู้ที่มีความจำยอดเยี่ยมที่สุดคนหนึ่ง ของโลก เป็นวิทยากรชื่อดังด้านการฝึกฝนความจำโดยวิธีพัฒนาความคิดแบบไอน์สไตน์ที่ ใครๆ ก็อยากฝากตัวเป็นศิษย์"รอน" บอกกับทุกคนว่า ทุกคนสามารถทำได้ สามารถจำหลายสิ่งหลายอย่างได้ เพียงแต่รู้จักพัฒนาความคิดอย่างเป็นระบบ มีระเบียบในการจำ
แบบทดสอบแรกที่ "รอน" ใช้สอน ผู้กระหายอยากมีความจำเป็นเลิศคือ คำง่ายๆ 20 คำ นั่นคือ ฟูจิ น้ำแข็ง ต้นไม้ จักรยาน สุนัข น้ำ 1 แก้ว รองเท้า ทีวี หมอน สปริง เคหลายคนฟังแล้วอาจจะรู้สึกหงุดหงิด คำตั้งเยอะจะจำอย่างไรได้ เทคนิคง่ายๆ ที่ "รอน" บอกว่าเป็นพื้นฐานของการจำ นั่นคือการผูกคำเหล่านี้เป็นห่วงโซ่ให้กลายเป็นเรื่องราวรื่องบิน โตเกียว แมว หมวกสีดำ แว่นตา เสื้อสีน้ำตาล เช็คมูลค่า 100,000 บาท รถคันใหม่ สุนัข และฟูจิ
กรณีนี้ "รอน" ให้ทุกคนลองจินตนาการว่าเราไปที่ภูเขาฟูจิ ที่นั่นมีน้ำแข็ง ต้นไม้ จักรยานจอดอยู่ เจอสุนัขใส่รองเท้าคู่หนึ่ง กำลังถือน้ำอยู่ในมือ 1 แก้ว นอนดูทีวีอยู่บนหมอนและที่นอนสปริง จากนั้นก็ขึ้นเครื่องบินไปโตเกียว เจอแมวใส่หมวกสีดำ ใส่แว่นตา ใส่เสื้อสีน้ำตาล ในมือมีเช็คมูลค่า 100,000 บาท เตรียมไว้สำหรับซื้อรถคันใหม่ แล้วเจอสุนัขอีกตัวก่อนบินกลับภูเขาฟูจิ

เท่านี้ทุกคนก็สามารถที่จะจำคำต่างๆ ที่บอกไปได้ทั้งหมด "รอน" บอกถึงเคล็ดลับในการจำ มีอยู่ 5 ขั้นตอน คือ
1. ชัดเจน (focus) โฟกัสสิ่งที่ต้องการจดจำให้ชัดเจนว่าคืออะไร มีความโดดเด่นตรงไหน ตรงนี้ถือว่าเป็นจุดที่สำคัญที่สุดที่ทำให้พลังของการจดจำมีประสิทธิภาพ
2. บันทึก (files) เป็นอีกขั้นตอนหนึ่งที่ละเลยไม่ได้ หากคุณต้องการเรียกคืนเอกสารจากคอมพิวเตอร์กลับมาใช้อีก คุณจะต้องบันทึกโฟลเดอร์หรือไฟล์งานนั้นไว้เพื่อเรียกใช้ในภายหลัง ความทรงจำของคุณเช่นกันที่มีกลไกการทำงานแบบเดียวกัน
ดังนั้นเพื่อให้สามารถเรียกข้อมูลกลับมาใช้ได้ในระยะเวลาต่อมา ทุกคนจำเป็นต้องบริหารจัดการความทรงจำ และจัดเก็บข้อมูลไว้ในตู้เก็บไฟล์แห่งความทรงจำอย่างมีระบบและมีระเบียบ เพื่อเวลาเรียกใช้จะได้ง่ายขึ้น
3. ภาษาภาพ (pictures) เพื่อให้ง่ายต่อการจดจำ ทุกคนจำเป็นต้องจินตนาการสิ่งที่ต้องการจำให้เป็นภาพที่คุ้นเคย หรือภาพที่สะดุดตา พูดง่ายๆ อะไรก็ตามที่ต้องการจดจำจะต้องแปลงให้อยู่ในรูปแบบของภาษาภาพเสมอ และนี่คือเหตุผลที่อธิบายถึงการจดจำหน้าตาของผู้คน แต่ไม่สามารถจำชื่อได้เนื่องจากทุกคนมองเห็นรูปหน้าคน
แต่มองไม่เห็นชื่อของคนคนนั้น เวลาเจอหน้ากันอีกครั้งจึงรู้สึกคุ้นตาแต่จำชื่อไม่ได้ การจำเป็นภาพก็ใช้หลักการเดียวกัน ดังนั้นหากคุณต้องการจดจำบทกวี ตัวเลข ที่อยู่ ข้อมูลจากชั้นเรียน ข้อความในหนังสือ หรืออะไรก็ตาม จะต้องแปลงสิ่งเหล่านั้นให้เป็นภาพเสียก่อน เพื่อให้มองเห็นและจดจำมันได้
4. ติดตรึง (glue) การจะจดจำบางสิ่งบางอย่าง สิ่งนั้นต้องมีความโดดเด่นเพียงพอที่จะติดตรึงอยู่ในความทรงจำ กระทบกับความรู้สึกของตัวเองอย่างแรง หากสังเกตช่วงชีวิตที่ผ่านมา จะเห็นได้ชัดว่าความจำจะติดตรึงอยู่ในความทรงจำได้ก็ต่อเมื่อภาพนั้นมีความ เคลื่อนไหว มีความรู้สึก หรือมีสิ่งพิเศษบางอย่างมาเชื่อมโยงกับตัวเรา
และนี่เป็นคำตอบว่าทำไมคุณจึงสามารถนึกถึงรายละเอียดของอุบัติเหตุทางรถยนต์ เมื่อ 20 ปีก่อนได้อย่างแม่นยำ หรือนึกย้อนถึงเหตุการณ์โศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นเมื่อ 15 ปีก่อนได้ ซึ่งนี่ก็เป็นเหตุผลเดียวกับที่คุณสามารถนึกถึงเหตุการณ์ดีๆ อย่างเช่นตอนที่คุณให้กำเนิดลูก หรือวันแต่งงาน
ดังนั้น ภาพที่สร้างสรรค์ขึ้นมาเพื่อจำ จะต้องเป็นภาพที่ติดตรึงในความทรงจำได้ดี มีความเคลื่อนไหว หรือความรู้สึกร่วมด้วย และหากเป็นภาพที่มีความพิเศษมากก็จะยิ่งช่วยให้จำได้ดีขึ้น
5. ทบทวน (review) การทบทวนสิ่งที่บันทึกไว้ในความทรงจำ เป็นอีกขั้นตอนหนึ่งที่จะทำให้สามารถจำ สิ่งต่างๆ ได้ในระยะยาว
วิธีการง่ายๆ ตื่นเช้าขึ้นมาให้ถามตัวเองว่า เมื่อวานนี้เราได้พบใครบ้าง เพื่อจะทบทวนรายชื่อของคนที่เราได้พบ แล้วดูว่ามีกี่คนที่คุณสามารถจำได้ ตรงนี้ถือเป็นแบบฝึกหัดที่ดี แถมยังช่วยเพิ่มเติมข้อมูลไปในเมโมรี่ส่วนตัวไปพร้อมๆ กันด้วยถ้าทุกคนสามารถทำได้ตามขั้นตอนนี้ ต่อไปไม่ว่าจะเป็นการพูดหน้าห้อง หรือพรีเซนต์งานต่างๆ ก็ทำได้อย่างน่าทึ่ง
ก่อนเข้าสู่กระบวนการจำ 5 ขั้นตอน ทุกคนจะต้องแบ่งพื้นที่ในสมองออกเป็นห้องๆ แล้วสร้างแฟ้มข้อมูล นำประเด็นต่างๆ มาแปลงให้เป็นรูปภาพที่คุ้นเคยในชีวิตประจำวัน เช่น สิ่งต่างๆ ภายในบ้าน สถานที่ทำงาน เมืองสำคัญๆ หรือรายละเอียดของร่างกาย แล้วให้หมายเลขสิ่งของเหล่านั้นเพื่อช่วยในการจำให้ง่ายขึ้น
ทักษะเหล่านี้เป็นเรื่องที่พัฒนาได้ เพียงแต่ทุกคนต้องมีจินตนาการ
"ถ้าอยากจำอะไร ก็สร้างภาพแล้วใส่ทุกอย่างในแฟ้ม ไม่ว่าจะจำ 100 สิ่ง 1,000 อย่าง ไม่ว่าสิ่งที่อยากจำจะเป็นรูปธรรมหรือนามธรรม ก็ใช้หลักการพื้นฐาน 5 ขั้นตอนเหมือนกัน แทนสิ่งที่ต้องการจำด้วยรูปภาพหรือหมายเลข และหากต้องการจำได้ในระยะยาวจะต้องมีการทบทวนอย่างสม่ำเสมอ ผ่านไป 1 สัปดาห์กลับมาทบทวนครั้งหนึ่ง ผ่านไป 1 เดือนกลับมาทบทวนอีกครั้งหนึ่ง ความจำก็จะคงอยู่กับเราตลอดไป"
อ้างอิงจาก
http://campus.sanook.com/1376525/


แบบของการจดจำของมนุษย์กับกระบวนการเรียนรู้


การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในธรรมชาตินั้น ไม่ให้โอกาสใครเลยที่จะหยุดการติดตามการเปลี่ยนแปลงของโลกและอวกาศ ยิ่งเมื่อตามสืบสอบค้นหาความจริงของการเปลี่ยนแปลงเป็นวงกว้างมากเท่าใด ก็จะพบว่าไม่มีที่ใดเวลาใดที่จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงเลย การเปลี่ยนแปลงกับการรับรู้ของมนุษย์ที่เฝ้าติดตามเกี่ยวพันกันด้วยคำว่า "วิทยาศาสตร์" จึงเป็นภาพเหตุการณ์อันต่อเนื่องยิ่งเสริมสร้างให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า "การเรียนรู้" มีการสืบสอบ ค้นคว้า ทดลองแล้วก็จดจำ บันทึก พร้อมทั้งการสื่อสารในทุกรูปแบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน แต่อย่างไรก็ตามเป็นที่น่าสังเกตว่าความเข้าใจของมนุษย์ที่ได้รับฟังข้อมูลสิ่งเดียวกันในเวลาเดียวกันและจากบุคคลเดียวกัน ทำไมมนุษย์แต่ละบุคคลจึงมีความเข้าใจไม่เหมือนกัน และเมื่อเวลาผ่านไปเนิ่นนานมากขึ้นเท่าใดยิ่งเห็นความแตกต่างของการจดจำของบุคคลเหล่านั้น หรือในเวลาหนึ่งความจำเหล่านั้นอาจเลือนหายไปจนหมดสิ้น ตรงกันข้ามกับการจดจำแบบหนึ่งที่มนุษย์เก็บเอาการเปลี่ยนแปลงของเหตุการณ์ที่ใกล้ตัว โดยที่กระทบต่อความเป็นตัวตนของตนอย่างมากหรือมากที่สุดตามเส้นทางการดำเนินชีวิต และรวบเอาอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดผนวกเข้ากับเหตุการณ์นั้นแล้วจัดเก็บไว้เป็น ..ความทรงจำ
สิ่งที่เรียกว่า "ความทรงจำ" นี้มีความพิเศษที่น่าสนใจคือ ข้อมูลนี้เก็บไว้ในสมองหรือที่ใดที่หนึ่งก็ตาม มนุษย์จะไม่มีการลืมเลือนของข้อมูลเลยแม้เวลาจะผ่านเนิ่นนานเพียงใด เมื่อมีการสื่อสารนำข้อมูลออกมาแสดงภายนอกให้ผู้อื่นรับรู้ยิ่งบ่งบอกถึงความพิเศษมากยิ่งขึ้น นั่นหมายถึงเพียงแต่นึกชื่อของเหตุการณ์นั้นด้วยข้อความสั้นๆ ข้อมูลที่เก็บไว้ทั้งหมดก็ถูกถ่ายทอดออกมาอย่างเป็นระเบียบไม่มีการตกหล่นของข้อมูลแม้แต่น้อย ข้อมูลที่ถูกจัดแสดงออกมาเป็นบรรยากาศที่มีความรู้สึกถึงอารมณ์ ภาพเคลื่อนไหว เปรียบได้ดั่งภาพยนตร์ที่มนุษย์เรียกกันทีเดียว คำถามจึงเกิดขึ้นในใจของผู้สอน ผู้วิจัยงานทางนักวิทยาศาสตร์อธิบายว่า

 ถ้ามนุษย์สร้างการจดจำจากการเรียนรู้เสมือนการจดจำด้วยความทรงจำจะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพของสมองหรืออย่างน้อยก็ทำให้การบันทึกของสมองมีระเบียบมากยิ่งขึ้นหรือไม่ และถ้าเป็นอย่างที่คาดหวังไว้ มนุษย์จะสร้างรูปแบบการจัดเก็บข้อมูลอย่างไรให้เหมาะต่อการเก็บเหมือนข้อมูลความทรงจำ ยิ่งคิดก็ยิ่งน่าพิศวงกับการเก็บข้อมูลแบบความทรงจำนี้ และพาให้คิดถึงคำพูดที่ว่าสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวมากเท่าใด ยิ่งเสมือนอยู่ไกลจากความเข้าใจของมนุษย์มากเท่านั้น เหตุผลก็คือวิทยาศาสตร์ที่อธิบายสิ่งที่ใกล้ตัวนั้นละเอียดมากขึ้นๆทุกขณะ

 "ความทรงจำ" นี้มีความพิเศษที่น่าสนใจคือ ข้อมูลนี้เก็บไว้ในสมองหรือที่ใดที่หนึ่งก็ตาม มนุษย์จะไม่มีการลืมเลือนของข้อมูลเลยแม้เวลาจะผ่านเนิ่นนานเพียงใด

 ดังนั้นการค้นหาสิ่งใหม่ที่ใกล้ตัวจึงเป็นการค้นพบที่ยากมากเช่นกัน ในเบื้องต้นชวนให้คิดประเด็นการสืบค้นเสาะหา ประเด็นแรกคือ มนุษย์มีการจดจำเป็นแบบใดบ้างและมีลักษณะอย่างไร ประเด็นที่สองว่าด้วยการสร้างรูปแบบหรือจัดลักษณะข้อมูลเป็นแบบใด จึงจดจำอย่างมีระเบียบได้ข้อมูลมากและจดจำนานที่สุด ทั้งสองประเด็นนี้ว่าด้วยการเลียนแบบความจำแบบความทรงจำเป็นเอก ตามด้วยการเชื่อมต่อของการทำงานของสมองประสานงานกันกับการเรียนรู้ของมนุษย์ต่อการเปลี่ยนแปลงทั้งหลายที่ไม่หยุดนิ่ง โดยทั่วไปคล้ายกับว่ามนุษย์กำลังค้นหาคำตอบที่อยู่ในตนเองให้เห็นความเป็นจริงแห่งการจดจำสิ่งที่ได้เรียนรู้มานั่นเอง
การจดจำของสมองมนุษย์ตามการประมวลและลักษณะของข้อมูลที่จัดเก็บ แบ่งออกได้เป็น 4 แบบด้วยกันคือ

 1. การจดจำแบบเข้าใจจากจิต (แบบซึมติดยึดแน่นในสมอง) การเก็บข้อมูลและจดจำแบบนี้เรียกให้เข้าใจง่ายก็คือ ความทรงจำ นั่นเอง จะเห็นว่ามีความเข้าใจมาเกี่ยวข้อง ดังนั้นการอธิบายให้เข้าใจนั้นไม่ง่ายนัก เพราะลักษณะของข้อมูลที่จัดเก็บไม่ได้เป็นตัวเลขหรือตัวอักษร แต่ข้อมูลถูกจัดเก็บเป็นแฟ้มข้อมูลเสมือนภาพยนตร์และรวมกับความรู้สึกนึกคิดอารมณ์ไว้เป็นหนึ่งเดียว เพื่อให้เข้าใจได้ง่ายยิ่งขึ้นจึงอธิบายแบบฟิล์มของภาพยนตร์ ถ้าเรียกชื่อแฟ้มของข้อมูลดังกล่าวเช่น เรียกเหตุการณ์ประทับใจมาสักหนึ่งเรื่อง จะเห็นการฉายภาพเคลื่อนไหวในหัวสมองทันที และต่อเนื่องจนกระทั่งจบเหตุการณ์นั้นลงอย่างสมบูรณ์ ดังนี้จะเกิดความเข้าใจได้ทันทีว่าการเก็บและแสดงข้อมูลแบบเข้าใจจากจิตนั้นเป็นอย่างไร ถึงตรงนี้จะเห็นได้ว่าถ้าอธิบายด้วยคำพูดจะไม่เห็นจริง คงได้แต่อ้างถึงฟิล์มของภาพยนตร์ให้เข้าใกล้ถึงความเข้าใจอันนี้ มีสิ่งหนึ่งที่ต้องพิจารณาคือลักษณะของข้อมูลความจำแบบนี้มี ความเป็นระเบียบ มีการเคลื่อนไหวและแสดงอย่างต่อเนื่อง ถ้าจะสร้างข้อมูลขึ้นต้องมีลักษณะดังกล่าวแน่นอน

 ตัวอย่างของความทรงจำที่นำมาแสดงนี้ เป็นการเก็บข้อมูลภาพยนตร์จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งไม่ได้เกิดจากการสร้างด้วยตัวตนของมนุษย์เอง สิ่งที่จะนำมาเป็นเครื่องมือในการสร้างข้อมูลแบบเข้าใจจากจิตนี้ ที่ดีที่สุดคือ กระบวนการเรียนรู้ ความเข้าใจคำว่า "กระบวนการเรียนรู้" ก็มีความแตกต่างกันอยู่มากเช่นกัน ในที่นี้กระบวนการเรียนรู้ก็มีลักษณะสำคัญเหมือนคุณลักษณะของข้อมูลที่เก็บแบบเข้าใจจากจิตนั่นเอง

 มีลักษณะดังนี้

 1.จัดเป็นระเบียบ คือ การเรียงร้อยต่อกันของขบวนการอย่างอนุกรมไม่สามารถสลับสับเปลี่ยนตำแหน่งได้ (แผนการเรียนรู้)
 2.มีการเคลื่อนไหวคือ บันทึกความเป็นไปทั้งหมดของกลไกและ/หรือกระบวนการที่เกิดขึ้นตามข้อมูลที่จัดระเบียบ
 3.แสดงอย่างต่อเนื่องคือ การนำเสนอข้อมูลที่จัดระเบียบไว้ด้วยกับกลไกและ/หรือกระบวนการบันทึกข้อมูลจากเริ่มต้นจนจบสมบูรณ์ด้วยความร้อยเรียงเป็นหนึ่งเดียว ทั้งสามประการนี้รวมเรียกว่า กระบวนการเรียนรู้ ความแตกต่างของความเข้าใจก็คือการเข้าใจเพียงส่วนใดส่วนหนึ่งของทั้งสามประการนี้จะเกิดความเข้าใจแบบไม่ครบถ้วน ดังนั้นการจดจำจึงไม่สามารถกระทำได้ครบถ้วนเนื่องจากการเก็บข้อมูลที่ไม่สมบูรณ์นั่นเอง ข้อมูลที่มนุษย์จัดเก็บด้วยแบบความจำนี้ เช่น กลไกและกระบวนการคิดค้นสร้างสิ่งประดิษฐ์ เป็นต้น
2. การจดจำแบบประทับบนจิต (แบบภาพปะติดสนิทบนเนื้อของสมอง) ความจำแบบนี้มีการใช้ในมนุษย์เนื่องจากลักษณะของข้อมูลนั้นมีข้อกำหนดน้อยกว่าแบบแรก ข้อมูลแบบนี้มีลักษณะเหมือนภาพหรือแผนผังนั่นเอง การจดจำจึงจำแบบภาพ ถ้าข้อมูลที่เป็นตัวอักษรจะถูกรวบรวมจัดเรียงเป็นแผนผังหรือโมเดลแล้วส่งเก็บจดจำไว้ จะเห็นได้ว่า การเก็บข้อมูลของสมองจะเก็บเสมือนฟิล์มของกล้องถ่ายรูปซึ่งไม่มีการเคลื่อนไหว ตัวอย่างที่มนุษย์จดจำข้อมูลจากภายนอกตนเอง เช่น ถ้าเรียกชื่อแฟ้มข้อมูลชื่อ...นิมิต (เพื่อนสนิท)... ข้อมูลที่ปรากฏขึ้นจะเป็นภาพของเพื่อนชื่อนิมิตที่จัดเก็บไว้ในสมองแสดงขึ้นมาทันที ภาพนี้จะมีอายุเท่ากับเวลาที่จัดเก็บ ถ้าเรียกชื่อแฟ้มเป็นภาพของนิมิตขึ้นมาบางครั้งจะนึกชื่อนิมิตไม่ออก จะเห็นได้ว่าข้อมูลที่เก็บแบบภาพจะมีระยะเวลาการจัดเก็บนานกว่าการเก็บแบบตัวอักษร

 อีกตัวอย่างหนึ่งที่มนุษย์นำเอาภาพจากธรรมชาติมาใช้ประโยชน์ในการสื่อสารและใช้การจดจำแบบประทับบนจิตในการเก็บข้อมูลได้แก่ ชาวจีนที่พัฒนาอักษรจีนมาจากธรรมชาติโดยวาดภาพ สิ่งของ หรือธรรมชาติมาใช้เป็นอุปกรณ์ในการประดิษฐ์ตัวอักษรจีน ในการจัดเก็บบันทึกตัวอักษรเหล่านี้จะจดจำแบบภาพไม่จดจำด้วยการประมวลของสมอง(ตัวอักษร) ถ้าประมวลด้วยสมองจะจำการขีดเส้นครั้งละหนึ่งเส้นต่อกันและขีดจนครบ แต่การจดจำแบบภาพจะเห็นตัวอักษรทั้งตัวปรากฏขึ้น แล้ววาดภาพนั้นออกมาเป็นตัวอักษรดังกล่าว ลักษณะข้อมูลที่สร้างขึ้นนั้นจะเป็นการจัดเป็นระเบียบ คือ การเรียงร้อยต่อกันของขบวนการอย่างอนุกรมไม่สามารถสลับสับเปลี่ยนตำแหน่งได้ ได้แก่ การจัดข้อมูลที่เรียกว่า ...แผนการเรียนรู้... ตัวอย่างเช่น วิธีการสร้างผลผลิตหรือสิ่งประดิษฐ์ เป็นต้น การจดจำแบบนี้จะสามารถจดจำขั้นตอน วิธีการหรือภาพ แต่ไม่สามารถจดจำกลไก (mechanism) ทั้งหมดได้ แต่อย่างไรก็ตามการจดจำทั้งแบบเข้าใจจากจิตและแบบประทับบนจิตสามารถเชื่อมต่อและแสดงร่วมกันได้
3. การจดจำแบบประมวลโดยสมอง เป็นการเก็บข้อมูลโดยการบันทึกตัวอักษรที่ร้อยเรียงเป็นประโยคหรือวลี ด้วยการท่องจำหรือเข้าใจความหมายของกลุ่มอักษรนั้นๆ ซึ่งโดยปกติมนุษย์จะจดจำแบบนี้อยู่ตลอดเวลาอยู่แล้ว ลักษณะข้อมูลที่จัดเก็บเป็นแฟ้มข้อมูลของกลุ่มตัวอักษรจะมีขนาดแฟ้มข้อมูลเล็กกว่าแบบเข้าใจจากจิตและแบบประทับบนจิตอยู่มาก

  ในทางตรงกันข้ามแฟ้มข้อมูลขนาดเล็กจะถูกลืมหรือตัดทิ้งได้ง่ายกว่าและระยะเวลาในการจดจำจะสั้นกว่า ทั้งสองแบบที่กล่าวข้างต้น เมื่อสมองบันทึกแฟ้มข้อมูลแบบนี้มากขึ้นๆ ก็จะมีการกำจัดแฟ้มข้อมูลที่ไม่ได้นำมาใช้ทิ้งไป เพื่อจดจำบันทึกแฟ้มข้อมูลใหม่แทนที่ จึงมีการหลงลืมข้อมูลอยู่ตลอดเวลา ลักษณะของข้อมูลแต่ละประโยคหรือแต่ละวลีไม่เรียงร้อยต่อกัน จึงมีความหมายเฉพาะภายในประโยคหรือวลีนั้นๆ ดังนั้นเวลาจัดเก็บหรือเรียกออกมาใช้จึงสลับกันไปมาได้ ลักษณะข้อมูลที่สร้างขึ้นจะเรียกว่า...แผนกิจกรรม... เช่น การเตรียมการดำเนินกิจกรรม, การจัดเตรียมอุปกรณ์การสร้างผลผลิต เป็นต้น
4. การจดจำแบบไม่มีระบบ (แบบไม่ใช้จิตและประมวลจากสมอง) เป็นการเก็บบันทึกข้อมูลโดยไม่มีการจัดเรียงคือ ไม่มีแผนในการจัดเก็บ ดังนั้นข้อมูลถูกส่งไปจัดเก็บเป็นประโยคหรือวลีเดี่ยวๆ ไม่สัมพันธ์กับข้อมูลอื่นๆ เลยและที่น่าสังเกตว่าข้อมูลแบบนี้ไม่สร้างให้เกิดความเข้าใจได้เลย เป็นเพียงการจดจำตัวอักษรเท่านั้น ข้อมูลที่เก็บไว้จะถูกกำจัดทิ้งไปได้ง่ายมาก หรือเป็นเพียงข้อมูลที่ถูกส่งผ่านไปยังสมองแล้วไม่เกิดการจดจำคือ ข้อมูลนั้นถูกส่งผ่านออกไปเพราะเป็นเพียงการรับรู้ของการได้ยินเท่านั้น หรือจะกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ไม่มีความสนใจในการรับรู้นั่นเอง เช่น นักเรียนที่ไม่สนใจเรียน ในขณะที่คุณครูสอนนักเรียนจะนึกถึงของเล่นและสมองพิจารณาถึงของเล่นชิ้นนั้น ขณะที่หูได้ยินเสียงคุณครูบ้างไม่ได้ยินบ้าง จึงไม่มีการเก็บบันทึกข้อมูลที่ได้ยิน ลักษณะข้อมูลแบบนี้เรียกว่า...กิจกรรม.... โดยสรุปคือ ไม่มีแบบแผนและไม่มีระบบในการจัดเก็บข้อมูลนั่นเอง
แผนผังแสดงถึงความสัมพันธ์กิจกรรมการเรียนรู้ สามารถจัดให้เป็นแผนกิจกรรมซึ่งอาจจะมีแผนการเรียนรู้ซ่อนอยู่ภายใน และมีกระบวนการเรียนรู้ซ่อนอยู่ในแผนการเรียนรู้ซึ่งเป็นแกนกลางในการจัดการความรู้ที่มีความสำคัญที่สุด กระบวนการเรียนรู้เป็นเครื่องมือที่ทำให้มนุษย์สร้างผลผลิตและองค์ความรู้ใหม่ รวมทั้งสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ ได้ด้วยความเข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลงสถานะและกลไก ในขณะที่แผนการเรียนรู้หรือขบวนการเรียนรู้เป็นเพียงอุปกรณ์ให้มนุษย์เข้าใจสิ่งที่เปลี่ยนแปลงอยู่แล้วเช่น การเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติ หรือติดตามสิ่งที่ผู้อื่นได้สร้างขึ้นมาแล้วด้วยการลอกเลียนแบบ ส่วนแผนกิจกรรมเป็นการเตรียมการเพื่อดำเนินกิจกรรมการเรียนรู้ และกิจกรรมเป็นแค่การชื่นชมผลของการเปลี่ยนแปลงนั้นๆ ซึ่งได้แต่รับรู้สิ่งที่เกิดขึ้นและใช้ประโยชน์ในนามผู้บริโภคเทคโนโลยี การศึกษาทางวิทยาศาสตร์ด้วยกระบวนการเรียนรู้จะนำไปสู่ความเข้าใจซึ้งการเปลี่ยนแปลงแห่งธรรมชาติ สามารถนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์และมีประสิทธิภาพสูงสุดต่อการสร้างเทคโนโลยีในโลกแห่งอนาคต
อ้างอิงจาก
http://www.trf.or.th/index.php?option=com_content&view=article&id=829:2013-12-06-09-48-49&catid=24&Itemid=219

ระบบความจำ

ระบบความจำของคนเราพอจะแยกออกเป็น 3 ระบบคือ ระบบความจำการรู้สึกสัมผัส (sensory Memory) ระบบความจำระยะสั้น (Short-Term Memory) และระบบความจำระยะยาว (Long-Term Memory)
ระบบความจำการรู้สึกสัมผัส สิ่งเร้าทั้งปวงที่มาสัมผัสกับประสาทรับความรู้สึกทำให้เกิดความรู้สึก (sensation) เช่น เห็นเป็นภาพ ได้ยินเป็นเสียง รู้สึกเป็นกลิ่น ฯลฯ สมองจะดำเนินการตีความรู้สึกนี้ต่อไป เพื่อให้รู้ว่าสิ่งที่รู้สึกนี้คืออะไร
ความจำการรู้สึกสัมผัส หมายถึงการคงอยู่ของความรู้สึกสัมผัส หลังจากที่การเสนอสิ่งเร้าสิ้นสุดลง เช่น การฉายภาพให้ดูแวบหนึ่ง ภาพที่ปรากฎให้เห็นจะยังคง “ติดตา” ต่อไปอีกหลายร้อยมิลลิวินาทีหลังจากการฉายภาพแวบนั้น ความคงอยู่ของรูปภาพแบบนี้ช่วยให้เห็นภาพที่ฉายซ้อนกันบนจอติดต่อกันเป็นภาพที่ต่อเนื่องกัน เช่นภาพยนตร์ ทั้งๆ ที่ระหว่างการฉายภาพแต่ละภาพเครื่องฉายกระพริบดับ และจะสว่างอีกครั้งก็ต่อเมื่อได้เปลี่ยนภาพเสร็จแล้ว แต่เราก็หาได้สังเกตเห็นการกระพริบของแสงไม่ โดยจะเห็นเป็นภาพที่ต่อเนื่องกันไปเรื่อยๆ ความจำที่กล่าวมานี้ เรียกว่า ความจำภาพติดตา (iconic Memory)ความรู้สึกได้ยินเสียงก็เช่นกัน จะยังคงก้องอยู่ในหูแม้ว่าคลื่นเสียงได้หายไปแล้ว การคงอยู่ของเสียงนี้ช่วยให้เราสามารถตีความเสียงที่ได้ยินได้ครบครัน ตัวอย่างแสดงความจำเสียงก้องหูมีอยู่มากมาย เช่น บางครั้งเราฟังใครพูดไม่ชัดเจนนักจึงถามไปว่า “พูดว่าอย่างไรนะ” แต่ก่อนที่จะได้รับคำตอบ เราก็ชิงตอบก่อนว่า “อ๋อเข้าใจแล้ว” ที่ว่าอ๋อเข้าใจแล้วนั้น หมายถึงได้ตีความเสียงนั้นใหม่จนเกิดความเข้าใจแล้ว และเสียงที่ตีความใหม่นั้นหาใช่เสียงจากผู้พูดไม่ หากแต่เป็นเสียงที่ก้องอยู่ในหูของตนต่างหาก เสียงนี้อยู่ในความจำที่เรียกว่า ความจำเสียงก้องหู (Echoic Memory)
ระบบความจำระยะสั้น (Short-Term Memory ย่อว่า STM) เป็นความจำ หลังการรับรู้สิ่งเร้าที่ได้รับการตีความจนเกิดการรับรู้แล้วก็จะอยู่ในความจำระยะสั้น เราใช้ความจำระยะสั้นสำหรับการจำชั่วคราวเพื่อใช้เป็นประโยชน์ในขณะที่จำอยู่เท่านั้น เช่นการจำหมายเลขโทรศัพฑ์จากสมุดโทรศัพฑ์ เมื่ออ่านหมายเลขแล้วหมายเลขนั้นก็จะเข้าไปในความจำระยะสั้นของเราเพื่อให้หันมาที่เครื่องโทรศัพท์และหมุนตัวเลขเหล่านั้น พอหมุนเสร็จเราก็ไม่มีความจำเป็นต้องจำหมายเลขนั้นอีกต่อไป ชั่วเวลาเพียงไม่กี่วินาทีเราอาจจำไม่ได้อีกเลยว่าหมายเลขที่เพิ่งหมุนไปนั้นคืออะไร เราอาจต้องอ่านหมายเลขจากสมุดโทรศัพท์อีกครั้งหากต้องการจะหมุนใหม่อีก ในการฟังหรืออ่านประโยค เช่น “คุณประยูรชอบเล่นเทนนิส” เราต้องเก็บภาคประธานของประโยค คือ “คุณประยูร” ไว้ในความจำระยะสั้น คอยให้ส่วนขยายของประโยคซึ่งได้แก่ภาคกริยาและภาคกรรมตามมาครบแล้วเราจึงตีความหมายของประโยคนั้นได้ว่าคืออะไร ถ้าหากเราไม่มีความจำระยะสั้นเพื่อการจำชั่วคราวนี้ การเข้าใจประโยคจะทำได้ยากมาก เพราะพอฟังถึงส่วนกริยาของประโยคก็ลืมไปแล้วว่าประธานคืออะไร
ความจำระยะสั้นนี้หายสาปสูญไปได้ง่ายมากหากเรามิได้ตั้งใจจดจ่ออยู่ในสิ่งที่กำลังจำ เช่นการจำหมายเลขโทรศัพท์ที่เพิ่งอ่านจากสมุดโทรศัพท์ ท่านคงเคยมีประสบการณ์ที่ต้องเปิดสมุดโทรศัพท์เพื่อดูหมายเลขอีกครั้ง เพราะขณะที่เริ่มต้นหมุนนั้นมีคนเข้ามาขัดจังหวะเพียงนิดเดียว
(1) ความจำกัดของ STM  STM เป็นความจำชั่วคราวต้องเอาใจจดจ่ออยู่ตลอดเวลา มิฉะนั้นสิ่งที่อยู่ใน STM ก็จะสูญหายไป เนื่องจากความสามารถในการเอาใจจดจ่ออยู่กับสิ่งต่างๆ ของคนเรามีจำกัด ในขณะหนึ่งๆ หากมีสิ่งต่างๆ อยู่ใน STM มากเกินไป เราย่อมไม่อาจจะเอาใจจดจ่ออยู่กับสิ่งเหล่านี้อย่างทั่วถึง และสิ่งที่ไม่ได้รับการใส่ใจนี้ก็จะเลือนหายไปอย่างรวดเร็ว
STM จึงมีความจำกัดในจำนวนหน่วย (chunk) ของสิ่งของที่จะเก็บรักษาไว้ ขีดจำกัด ของ STM สามารถวัดโดยหาจำนวนหน่วยของสิ่งเร้าจำนวนมากที่สุดที่สามารถบรรจุใน STM ในเวลาหนึ่งๆ จำนวนหน่วยที่จำได้นี้เรียกว่า ช่วงความจำ (Memory Span)
การหาช่วงความจำทำได้ง่ายมาก ลองเขียนตัวเลขเรียงกันเป็นชุดๆ ตั้งแต่ชุดละ 4 ตัว ถึงชุดละ 12 ตัว เช่น
  2730
  85943
  706294
  1538796
  29081357
  042865129
  4790386215
  39428107536
  541962836702
เมื่อได้ตัวเลขมาแล้ว ให้อ่านตัวเลขในแต่ละชุดโดยเสียงเรียบๆ ทีละตัวในอัตราเร็ว ตัวละ 1 วินาที ให้ผู้รับการทดลองฟังทีละชุด เมื่อฟังจบแต่ละชุดให้ผู้รับการทดลองว่าตามทันที ว่าตัวเลขที่ได้ยินไปนั้นมีอะไรบ้าง โดยเริ่มต้นจากชุด 4 ตัว หากตอบได้ถูกหมดก็ทำชุดที่มี จำนวนตัวเลขมากขึ้นอีก จนถึงชุดที่ไม่สามารถตอบถูกได้หมด เช่น ชุดเลข 9 ตัว เราอาจให้แก้ตัวอีกครั้งโดยอ่านตัวเลข 9 ตัวชุดใหม่ให้ฟังแล้วให้ว่าตามอีก หากยังไม่ได้อีก ก็แสดงว่าช่วงความจำของผู้รับการทดลองผู้นี้เท่ากับ 8 ขีดจำกัดของ STM ของบุคคลนี้จึงเท่ากับ 8 หน่วยตัวเลข
ช่วงความจำของคนแตกต่างกัน บางคนก็ยาว บางคนก็สั้น แต่โดยเฉลี่ยแล้วจะยาวประมาณ 7 หน่วย บางคนอาจจำได้มากกว่านี้ บางคนได้น้อยกว่านี้ แต่ก็จะหนีไม่พ้นช่วง 7 + 2 หน่วย (Miller, 1956) ไม่ว่าสิ่งเร้าที่ใช้นั้นจะเป็นตัวเลข พยัญชนะ พยางค์ไร้ความหมายหรือ คำมีความหมายก็ตาม
(2) การสับสนเสียงใน STM การจำใน STM มีลักษณะเป็นการพูดทบทวนในใจ เช่น ขณะที่กำลังกรอกตัวเลขลงบัญชี ใจต้องจดจ่ออยู่กับจำนวนตัวเลขที่จำอยู่ใน STM การจดจ่อนี้มักอยู่ในรูปการพูดทบทวนในใจ เช่น “สาม สี่ เจ็ด ห้า จุด ห้า ศูนย์” จึงอาจกล่าวได้ว่าสิ่งที่ จำอยู่ใน STM นั้นมีลักษณะเป็นเสียงพูดในใจ ดังนั้น การสับสนเสียง (Acoustic Confusion) ใน STM จึงเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเสมอ
ในภาษาไทยการจำเสียง ม และ น เสียง บ ป และ พ และเสียง ค ด และ ท มีความสับสนกันพอสมควร เนื่องจากมีเสียงใกล้เคียงกัน ดังนั้นการหลีกเลี่ยงเสียงที่คล้ายคลึงกันในงานที่ต้องใช้ความจำระยะสั้นจึงเป็นสิ่งจำเป็น เช่นในการอ่านหมายเลขโทรศัพท์ เสียงของคำว่า “สอง” “สาม” และ “ศูนย์” ใกล้เคียงกันมาก การเปลี่ยนจาก “สอง” เป็น “โท” จึงช่วยลดความสับสน นี้ลงได้บ้าง
ระบบความจำระยะยาว (Long-Term Memory ย่อว่า LTM) เป็นความจำที่มีความคงทนถาวรกว่า STM เราจะไม่รู้สึกในสิ่งที่จำอยู่ใน LTM แต่เมื่อต้องการใช้หรือมีสิ่งหนึ่งสิ่งใดมาสะกดใจก็สามารถจะรื้อฟื้นขึ้นมาได้ ตัวอย่างการจำใน LTM ได้แก่การจำเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นเมื่อหลายชั่วโมงก่อน หลายวันก่อน หรือหลายปีก่อน ชื่อของเพื่อนสนิท ทางไปตึกเรียนที่ตนเคยเรียนสมัยเป็นนักเรียนมัธยม ภาษา ตลอดจนความรู้ต่างๆ ที่เรียนประสบการณ์ต่างๆ ที่เคยได้รับตั้งแต่จำความได้ ล้วนอยู่ใน LTM ทั้งสิ้น
(1) LTM กับการรับรู้ การรับรู้เกิดจากการตีความสิ่งเร้าที่มาสัมผัสประสาทรับความรู้สึก และการตีความนี้ต้องอาศัยประสบการณ์เดิมที่มีอยู่ใน LTM เพื่อให้รู้ว่าสิ่งที่ตนรู้สึกนั้น คืออะไร นอกจากประสบการณ์แล้ว ความสนใจและความเชื่อซึ่งเป็นผลของประสบการณ์เดิมใน LTM ก็มีอิทธิพลต่อการตีความสิ่งเร้านั้นมาก
สิ่งเร้าที่คนเราประสบมากที่สุดในชีวิตประจำวันคือ สิ่งเร้าทางภาษา การตีความสิ่งเร้าที่เป็นภาษานี้จะไม่สามารถได้ความที่ถูกต้องหากยังขาดประสบการณ์ที่จำเป็นสำหรับการตีความ ประสบการณ์ดังกล่าวนี้คือ การจำเสียง หรือภาพของคำได้ การรู้ความหมายของคำ และการรู้ หลักการเรียงคำเหล่านั้นเป็นประโยค การพูคภาษาอังกฤษให้ชาวบ้านซึ่งไม่เคยเรียนภาษาอังกฤษฟัง ชาวบ้านผู้นั้นย่อมไม่สามารถที่จะตีความเสียงที่ได้ยินให้เกิดเป็นการรับรู้ว่าที่พูดมานั้นหมาย ความว่าอย่างไร

(2) สิ่งที่จำใน LTM สิ่งที่จำใน LTM เป็นความหมายหรือความเข้าใจในสิ่งที่ตนได้ยิน ได้เห็น หรือได้รู้สึกด้วยประสาทอื่นๆ ความหมายหรือความเข้าใจนี้เป็นผลของการตีความสิ่งเร้าที่รู้สึกอยู่ใน STM ขณะที่สิ่งเร้า เช่น เสียงคำพูดของเพื่อนที่กำลังคุยด้วยยังอยู่ใน STM สมองจะตีความเสียงคำพูดเหล่านี้ซึ่งได่ยินติดต่อกันเรื่อยๆ คำแล้วคำเล่าจนจบประโยคหรือจบตอน เมื่อตีความจนรับรู้ว่าที่ตนได้ยินนั้นหมายความว่าอย่างไรแล้ว เสียงคำพูดเหล่านั้นก็จะถูกปล่อยให้สลายตัวไปจาก STM ส่วนความหมายหรือความเข้าใจที่รับรู้ได้นั้นจะคงอยู่ใน LTM ต่อไป หากท่านปิดหนังสือแล้วพยายามนึกทบทวนว่าในย่อหน้าที่ท่านกำลังอ่านอยู่นี้มีใจความอย่างไร เป็นที่แน่ใจได้ว่าสิ่งที่ท่านนึกทบทวนได้นั้นจะเป็น “ความเข้าใจ” ของท่านเอง ใช้คำพูดของท่านเอง และเป็นที่แน่ใจอีกว่าประโยคที่ท่านใช้อธิบายความเข้าใจของท่านจะไม่มีทางเหมือนกับประโยคที่ท่านได้อ่านในย่อหน้านี้เลย “ความเข้าใจ” อันนี้เองที่อยู่ใน LTM ของท่าน หาใช่ประโยคต่างๆ ที่ได้อ่านไปแล้วไม่
เนื่องจากสิ่งที่จำใน LTM คือความหมายหรือความเข้าใจในสิ่งที่คนรู้สึก สิ่งที่อยู่ใน LTM จึงเป็นประดิษฐกรรมของผู้จำเอง ประดิษฐกรรมนี้อาจจะตรงหรือไม่ตรงกับสิ่งเร้าจริงก็ได้ เพราะการตีความสิ่งเร้าขึ้นอยู่กับประสบการณ์เดิม ความสนใจ และความเชื่อของแต่ละคน คง เคยมีประสบการณ์ว่า การพูดคุยกันนั้นบางครั้งมีการเข้าใจผิดเกิดขึ้น โดยที่ผู้พูดต้องการความหมายอย่างหนึ่ง แต่ผู้ฟังตีความเป็นอีกอย่างหนึ่ง ในชีวิตประจำวันของเรามีการเข้าใจไม่ตรงกัน เกิดขึ้นเสมอ แต่ส่วนใหญ่เรามักไม่ได้ตรวจสอบกันว่าที่ผู้ฟังพยักหน้านั้นเขาเข้าใจเหมือนกับที่เราตั้งใจหรือเปล่า
อีกตัวอย่างหนึ่งคือ บุคคลที่มีอาการเรโทรเกรดแอมนีเซีย (Retrograde Amnesia) ซึ่งเป็นการลืมเหตุการณ์ต่างๆ ในอดีต มักจะเกิดกับบุคคลที่สมองได้รับการกระทบกระเทือนเช่น หัวฟาดพื้นถนนเนื่องจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ บุคคลเหล่านี้จะจำเหตุการณ์ที่เกิดก่อนอุบัติเหตุไม่ ได้เลย แต่ความจำเหตุการณ์เก่าๆ เมื่อ 5 หรือ 10 ปีก่อนจะยังคงเหมือนเดิม เรโทรเกรดแอมนีเซียรักษาให้หายได้ วิธีรักษาวิธีหนึ่งคือการหาสิ่งที่บุคคลเหล่านี้ยังจำได้ดีมาให้ประสบอีกเพื่อสะกิดให้ระลึกถึงสิ่งที่ยังระลึกไม่ได้ทีละน้อยๆ ไปเรื่อยๆ จนสามารถฟื้นความจำขึ้นมาอีก
นอกจากนี้ การใช้ไฟฟ้ากระตุ้นที่บางส่วนของเซรีบรัลคอร์เท็กซ์(Cerebral Cortex) ทำให้เกิดประสบการณ์เช่นเดียวกันกับที่เคยประสบมาก่อน แม้จะเป็นเวลาหลายสิบปีก่อน เช่นได้ยินเสียงและเห็นภาพเหตุการณ์ที่ตนกำลังหัวเราะพูดคุยกับพี่น้องขณะที่ยังเป็นเด็ก หรือได้ยินเสียงเพลงซิมโฟนีที่ตนเคยฟังมาก่อน เหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นใหม่สมจริงมาก และถ้าหยุดกระตุ้น เหตุการณ์จากความจำเหล่านี้ก็จะหายไปทันที (penfield, 1959)
หลักฐานข้างต้นเหล่านี้ต่างแสดงว่าการลืมนั้นหาได้เกิดจากการสูญเสียรอยความจำไม่ แต่เป็นการไม่สามารถรื้อฟื้นรอยความจำนี้ต่างหาก อย่างไรก็ดี เราก็ยังไม่สามารถจะสรุปด้วยความมั่นใจว่า รอยความจำจะอยู่อย่างถาวรใน LTM ตลอดไป รอยความจำย่อมเหมือนสสารอื่นๆ ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงทีละน้อยตลอดเวลา อีกทั้งรอยความจำจากประสบการณ์ใหม่ๆ ย่อมสะสมทับถมรอยความจำเก่าให้เลือนหายไปได้ ดังนั้นการลืมจึงอาจเกิดจากการเลือนหายของรอยความจำได้ด้วย และถ้าการลืมนั้นเกิดจากการเลือนหายของรอยความจำ การรื้อฟื้นความจำของสิ่งนั้นย่อมไม่มีทางที่จะเป็นไปได้อีก
ซิกมันด์ ฟรอยด์ นักจิตวิทยาชาวออสเตรียน ผู้ริเริ่มจิตวิทยาแนวจิตวิเคราะห์ มีความเชื่อว่ากลไกสำคัญอันหนึ่งที่จะทำให้เกิดการลืมคือ การเก็บกด (Repression) มีประสบการณ์หรือความรู้สึกนึกคิดบางอย่างที่เจ้าตัวไม่อยากจะนึกถึงอีก เพราะนึกถึงครั้งไรทำให้เกิดความรู้สึกผิด รู้สึกวิตกกังวลหรือเป็นทุกข์ เช่นการที่หญิงสาวยอมให้ เพื่อนชายเล้าโลมด้วยความพลั้งเผลอใจ ความคิดอยากจะทำร้ายมารดาของตน หรือการกระทำอย่างอื่นที่คนในสังคมรวมทั้งเจ้าตัวคิดว่าเลว ประสบการณ์เหล่านี้หากนึกขึ้นมาทีไรอาจทำให้เจ้าตัวรู้สึกผิดและรู้สึกเป็นทุกข์ จึงพยายามลืมประสบการณ์เหล่านี้โดยการพยายามหลีกเลี่ยงไม่นึกถึงประสบการณ์เหล่านี้อีก
ฟรอยด์เชื่อว่าประสบการณ์ที่ได้รับการเก็บกดจะทำให้เจ้าตัวไม่รู้สึกว่ามีประสบการณ์เหล่านี้ แต่ความจริงแล้วประสบการณ์เหล่านี้มิได้หายไปไหน ยังคงอยู่ในจิตฃองบุคคลนั้น แต่อยู่ในส่วนที่ไร้สำนึก จิตไร้สำนึกนี้มีอิทธิพลทำให้คนแสดงพฤติกรรมอปกติได้ ดังนั้นในการรักษา ผู้ป่วยเป็นโรคจิตโรคประสาท จิตแพทย์ที่มีความเชื่อตามแนวจิตวิเคราะห์จะพยายามช่วยให้ผู้ป่วยรื้อฟื้นประสบการณ์ที่เป็นปัญหาเหล่านี้ขึ้นมาเพื่อตีความใหม่และทำความเข้าใจประสบการณ์เหล่านี้ ใหม่ เพื่อจะได้ไม่ต้องเก็บกดเป็นจิตไร้สำนึกและแสดงออกเป็นพฤติกรรมอปกติอีก (Freud,1940)
ตามความคิดจิตวิเคราะห์ รอยความจำมีความคงทนถาวรอยู่ในสมอง และการลืมนั้นเกิดจากการไม่สามารถรื้อฟื้นรอยความจำนี้ขึ้นมา แต่ถ้ามีการช่วยเช่นการแนะของจิตแพทย์ หรือการสะกดจิต รอยความจำเหล่านี้ก็สามารถถูกรื้อฟื้นขึ้นมาได้
การแยก STM และ LTM ทั้ง STM และ LTM ต่างก็เป็นความจำที่เกิดขึ้นหลังจากที่สิ่งเร้าได้ผ่านการรับรู้แล้ว ความจำแบบนี้ถือว่าเป็นความจำหลังการรับรู้ (Post-Perceptual Memory) แตกต่างจากความจำก่อนการรับรู้ ซึ่งอยู่ในรูปของสารในระบบประสาทรู้สึก สัมผัส
การแยกความจำหลังการรับรู้ออกเป็น STM และ LTM เคยเป็นที่ถกเถียงกัน ผ่ายที่ไม่เห็นด้วยมีความเห็นว่าการแยก STM และ LTM กระทำโดยไม่มีหลักเกณฑ์แน่นอน สิ่งใดที่จำได้ในระยะเวลาสั้นๆ ก็เรียกว่า STM และสิ่งใดที่จำได้นานก็เรียก LTM แท้จริงแล้วทั้ง STM และ LTM อาจเป็นระบบความจำเดียวกัน และเป็นไปตามกฎเกณฑ์เดียวกัน (Melton, 1963)
อย่างไรก็ดี มีหลักฐานทางสรีรวิทยาที่สนับสนุนว่าความจำหลังการรับรู้มีสองแบบคือ STM และ LTM กล่าวคือ การผ่าตัดสมองส่วนที่เรียกว่า ฮิปโปแคมปัส (Hippocampus) ซึ่งอยู่ลึกลงไปในสมองกลีบขมับ (Temporal Lobe) เพื่อรักษาอาการโรคลมบ้าหมูในคนไข้บางรายทำให้คนไข้ไม่สามารถจำสิ่งใหม่ๆ ใน LTM ได้อีกเลย ทั้งๆ ที่คนไข้เหล่านี้ยังจำความรู้ต่างๆ ที่จำมาจากอดีตได้ดี ถ้าให้จำสิ่งใหม่ๆ เป็นการชั่วคราว คนไข้จะจำได้ แต่ถ้าให้เวลาผ่านไปสักครู่ คนไข้ก็ไม่อาจจำสิ่งนั้นได้อีกเลย มีอยู่รายหนึ่งหลังจากผ่าตัดสมองแล้วไม่นาน ครอบครัวคนไข้ ได้ย้ายที่อยู่ใหม่ปรากฎว่า คนไข้ผู้นี้ไม่สามารถจำที่อยู่ใหม่ของเขาได้เลย ทุกครั้งที่กลับบ้านจะต้องมีคนคอยพากลับบ้าน เขาจำไม่ได้แม้กระทั่งที่ที่วางสิ่งของที่ต้องใช้เป็นประจำ ทั้งๆ ที่ขณะอยู่บ้านเก่าเขาไม่เคยมีปัญหาเหล่านี้ เพราะความรู้ที่ว่าบ้านอยู่ที่ไหนของใช้วางไว้ที่ใดอยู่ในความจำระยะยาวแล้ว มีบางรายไม่สามารถจำชื่อและหน้าตาของคนที่ไม่เคยรู้จักมาก่อนได้เลย ขณะแนะนำให้รู้จักก็เรียกชื่อถูก แต่พอเวลาผ่านไปเพียงไม่กี่นาที เขาก็ลืมสนิท คนที่เพิ่งแนะนำให้รู้จักเมื่อสักครู่นี้ก็กลายเป็นคนแปลกหน้าไปอีก อย่างไรก็ดี คนไข้เหล่านี้ยังคงมี STM ที่ดี สามารถจำตัวเลขหรือชื่อคนต่างๆ ได้เป็นการชั่วคราว แต่สิ่งที่อยู่ใน STM นี้จะไม่มีโอกาสฝังตัว ใน LTM เลย (Milner, 1966)
ทฤษฎีครามจำสองกระบวนการ ได้มีผู้สร้างทฤษฎีความจำเพื่ออธิบายกระบวนการต่างๆ ใน STM และ LTM หลายทฤษฎี ทฤษฎีเหล่านี้มีชื่อเรียกกันว่า ทฤษฎีความจำสองกระบวนการ (Two-Process Theory of Memory) มีอยู่ทฤษฎีหนึ่งเป็นที่สนใจของคนเป็นจำนวนมาก ทฤษฎีนี้สร้างโดย แอตคินสันและชิฟฟริน (Atkinson & Shiffrin, 1968) มีใจความ ว่า STM เป็นความจำชั่วคราว สิ่งใดก็ตามถ้าอยู่ใน STM ต้องรับการทบทวนตลอดเวลา มิฉะนั้น ความจำสิ่งนั้นจะสลายตัวไปอย่างรวดเร็ว ในการทบทวนนั้น เราจะไม่สามารถทบทวนทุกสิ่งที่เข้ามาอยู่ใน STM ดังนั้นจำนวนสิ่งของที่เราจะจำได้ใน STM จึงมีจำกัด เช่นถ้าเป็นชื่อคน เราอาจทบทวนได้เพียง 3 ถึง 4 ชื่อ ในขณะหนึ่งๆ การทบทวนป้องกันไม่ให้ความจำสลายตัวไปจาก STM และสิ่งใดก็ตามถ้าอยู่ใน STM เป็นระยะเวลายิ่งนาน สิ่งนั้นก็จะมีโอกาสฝังตัวใน LTM ยิ่ง มาก ถ้าเราจำสิ่งใดไว้ใน LTM สิ่งนั้นก็จะติดอยู่ในความจำตลอดไป
เราอาจแสดงกระบวนการของ STM กับกระบวนการของ LTM เป็นแผนภูมิได้ดังรูป 10.1
อ้างอิงจาก

http://www.healthcarethai.com/%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%9A%E0%B8%9A%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%88%E0%B8%B3/

วันพุธที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2559

เทคนิคในการช่วยความจำ


ความหมายของ "ความจำ" เป็นคำที่ใช้อธิบายวิธีการที่ข้อมูล หรือสิ่งที่เรียนรู้ถูกบันทึก และเก็บไว้ถาวรในความจำระยะยาวและสามารถที่จะค้นคืนหรือเรียกมาใช้ (Retrieve) ในเวลาที่ต้องการได้ ความรู้ที่นักเรียนเรียนรู้แล้วแต่จำไม่ได้ก็จะไม่มีประโยชน์ นักเรียนส่วนมากจะไม่มีวิธีการเรียนและวิธีจดจำที่มีประสิทธิภาพ
วิธีทั่วๆไปเทคนิคช่วยความจำที่ใช้กันอยู่มีทั้งหมด 6 วิธี คือ
1. การสร้างเสียงสัมผัส เป็นวิธีที่ใช้ได้ผลดีมาก และสิ่งที่จดจำจะอยู่ในความทรงจำเป็นเวลานาน บทเรียนภาษาไทยมีผู้คิดแต่งกลอนที่มีสัมผัสและมีความหมายเพื่อให้จำได้ง่าย เช่น การจำการันใช้ไม้ม้วนและคำที่ขึ้นต้นด้วย " บัน "
2. การสร้างคำเพื่อช่วยความจำจากอักษรตัวแรกของแต่ละคำ การสร้างคำเพื่อช่วยความจำวิธีนี้ทำได้โดยการนำอักษรตัวแรกของแต่ละคำที่จะต้องการจำมาเน้นคำใหม่ที่มีความหมาย เช่น การจำชื่อทะเลสาปที่ใหญ่ทั้งห้าของอเมริกาเหนือสร้างคำว่า Homes ซึ่งหมายถึงทะเลสาป Huron, Ontario, Michigan, Eric, Superior ตามลำดับการท่องจำทิศทั้ง 8 ก็มีผู้คิดว่า ควรจะท่องจำ "อุ-อิ-บุ-อา-ทัก-หอ-ประ-พา" เริ่มจากทิศเหนือแล้ววนขวาตามลำดับ
3. การสร้างประโยคที่ความหมายช่วยความจำ (Acrostic) ตัวอย่างการใช้ประโยคที่มีความหมายสร้างจากอักษรตัวแรกของการจำชื่อ 9 จังหวัดที่อยู่ในภาคเหนือของประเทศไทยว่า "ชิดชัยมิลังเลเพียงพบอนงค์" ซึ่งศาสตราจารย์สมุน อมรวิวัฒน์ ได้คิดขึ้น ถ้าถอดคำออกมาจะเป็นชื่อจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ลำพูน ลำปางแพร่ พะเยา อุตรดิตถ์ น่าน
4. วิธี Pegword เป็นวิธีที่มีประโยชน์สำหรับการท่องจำรายชื่อ สิ่งของหลาย ๆ อย่างที่จะต้องมีลำดับ 1, 2, 3…การใช้จำเป็นจะต้องสร้าง Pegs ขึ้น และท่องจำปกติ มักจะใช้ตัวเลขมีความสัมผัสกับสิ่งของให้มีเสียงสัมผัส(Rhyme)การใช้ก็ต้องใช้จินตนาการช่วยในการจำ การไปซื้อของหลายอย่างอาจจะใช้วิธี Pegword ตัวอย่างเช่น ต้องซื้อของ 7-8 อย่าง อย่างที่หนึ่ง คือ สี อย่างที่สอง คือ ดอกกุหลาบ ฯลฯ ก็อาจจะใช้จิตนาการว่า Bun ลอยอยู่บนป๋องสี เป็นอย่างที่ 1 และดอกกุหลาบโผล่ออกมาที่รองเท้า ประโยชน์ของวิธี Pegword ช่วยความจำ เป็นการช่วยให้ระลึกให้ง่าย และอาจจะระลึกได้ง่ายทั้งลำดับปกติ คือจากหน้าไปหลัง (Foreard) หรือย้อนจากหลังไปหน้า (Backwards)
5.วิธีโลไซ (Loci Method) วิธีโลไซนับว่าเป็นวิธีช่วยความจำที่เก่าแก่ที่สุด คำว่า "Loci" แปลว่า ตำแหน่ง แหล่งที่มาของวิธีโลไซไม่ปรากฏแน่ชัด แต่มีเรื่องนิยายเกี่ยวกับวิธีช่วยความจำโลไซที่เล่าต่อ ๆ กันมาเป็นเวลาหลายร้อยปีวิธีโลไซเน้นหลักการจำโดยการสร้างมโนภาพเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมที่ต้องการจะจำ โดยใช้สถานที่และตำแหน่งเป็นสิ่งเตือนความจำ (Memory Pegs) เรื่องมีอยู่ว่าเมื่อราว 450 ปี ก่อนคริสตกาล
วิธีช่วยความจำ โลไซมักจะใช้ช่วยความจำเกี่ยวกับสถานที่ เช่น ห้องต่าง ๆ ในบ้าน อาคารต่าง ๆ ของโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย หรือร้านค้าต่าง ๆ บนถนนก็ได้ กฎเกณฑ์พื้นฐานของวิธีช่วยความจำโลไซมีดังต่อไปนี้
1.สถานที่หรือตำแหน่งต่าง ๆ ที่จะเลือกใช้ควรจะอยู่ใกล้กัน
2.จำนวนสถานที่หรือตำแหน่งที่จะใช้ควรจะเป็นจำนวนไม่เกิน 10 แห่ง
3.ควรกำหนดหมายเลขให้แต่ละสถานที่ตามลำดับตั้งแต่หนึ่งไปจนถึงสถานที่สุดท้าย และควรจะสามารถระลึกได้ทั้งหน้าไปหลังและหลังไปหน้า
4.สถานที่ใช้ควรจะเป็นที่ ๆ คุ้นเคย และผู้ใช้สามารถจะนึกภาพได้อย่างชัดเจน ฉะนั้นสถานที่ ๆ จะใช้ควรจะมาจากประสบการณ์
5.สถานที่จะใช้เป็นเครื่องช่วยความจำโลไซ ควรจะมีลักษณะแตกต่างกันอย่างเห็นชัด ผู้ใช้ควร
จะเน้นสิ่งเด่นของแต่ละสถานที่
6.ผู้ใช้จะต้องสามารถที่จะสร้างจินตนาการภาพของลักษณะเดิมของแต่ละสถานที่ได้ เป็นต้นว่าเครื่องแต่งห้องมีลักษณะพิเศษอะไรบ้าง
ในการปฏิบัติ ผู้ที่ประสงค์จะใช้วิธีช่วยความจำโลไซจะต้องนำมาเป็นสิ่งแรกคือ เลือกหาสถานที่ซึ่งประกอบด้วยส่วนประกอบตามธรรมชาติ เช่น บ้าน สิ่งแรกคือห้องรับแขก ห้องอาหาร ห้องครัว เป็นต้น หลังจากนั้นก็นำสิ่งที่คนอยากจะจดจำ อาจจะเป็นสิ่งของเหตุการณ์หรือความคิดก็ได้ พยายามเชื่อมโยงสิ่งที่จะจำกับสถานที่หรือสิ่งของที่ได้ให้หมายเลขไว้ และเมื่อจะระลึกถึงสิ่งที่ต้องการจำก็เริ่มจากหมายเลข 1 เป็นต้นไป
6.วิธี Keyword วิธีช่วยความจำที่เรียกว่า Keyword เป็นวิธีใหม่ที่สุด มีผู้เริ่มใช้ เมื่อปี พ.ศ. 2518 แอตคินสันหรือผู้ร่วมงาน ขั้นตอนของวิธี Keyword มีเพียง 2 ขั้น คือ
1.พยายามแยกคำภาษาต่างประเทศที่จะเรียน ซึ่งเวลาออกเสียงแล้วคล้ายภาษาไทย นี้คือ Keyword 2.นึกถึงความหมายของคำ Keyword ในภาษาไทยแล้ว แล้วมาหาคำสัมผัสของความหมายของ Keyword ในภาษาไทยตามเสียงที่อ่านและความหมายของคำภาษาต่างประเทศที่จะเรียน
สรุปแม้วิธีช่วยความจำแบบ Keyword ใช้การเรียนคำในภาษาต่างประเทศเป็นการเชื่อมโยงกับความหมายของ
คำกับ Keyword โดยเสียง และเชื่อมโยงกับความหมายของคำในภาษาไทยได้โดยการใช้จินตนาการ ตัวอย่างเช่น คำภาษาอังกฤษ Potato แปลว่า มันฝรั่ง อ่านว่า โพเทโท คำ Keyword ใช้คำว่าโพหรือโพธิ์ ฉะนั้นอาจจะจำคำ
"โพเทโท" โดยนึกวาดภาพคำว่า โพธิ์ และมันฝรั่งตามตา มีใบโพธิ์โผล่ขึ้นมาวิธี Keyword ช่วยในการเรียนเรื่องอื่น ๆ เช่น การจำชื่อเมืองหลวงต่าง ๆ และความสำเร็จของบุคคลต่าง ๆ นักจิตวิทยาได้ทดลองวิจัยเกี่ยวกับการใช้วิธี Keyword ช่วยความจำทั้งในโรงเรียนประถม มัธยม และมหาวิทยาลัยปรากฏว่าได้ผลดีทุกระดับ
สรุปแล้ว เครื่องช่วยความจำ (Memonic Devices) ช่วยให้ผู้เขียนสามารถที่จะเข้ารหัส สิ่งที่เรียนเก็บไว้ในความจำระยะยาว และเวลาที่ต้องการใช้ก็สามารถค้นคืนหรือเรียกมาใช้ได้ง่าย ฉะนั้นการสอนนักเรียนให้ใช้เครื่องช่วยจำจึงมีประโยชน์ เพราะจะได้แก้ความเข้าใจผิดที่ว่า คนจำเก่งเป็นคนที่มีระดับสติปัญญาสูง ถ้านักเรียนได้ทดลองใช้วิธีช่วยความจำในการเรียนขึ้นและสนุกในการที่จะค้นคืนวิธีที่จดจำสิ่งที่เรียกได้ดี เวลาสอบก็จะทำคะแนนได้ดีขึ้น
วัตถุประสงค์ของการศึกษาโดยทั่วไปแล้ว ไม่แต่เพียงว่าให้นักเรียนสามารถที่จะระลึกถึงสิ่งที่เรียนรู้แล้วเท่านั้นแต่จะต้องให้นักเรียนสามารถวิเคราะห์และรวบรวมสิ่งที่เรียนให้เป็นหมวดหมู่ และสามารถที่จะประเมินสิ่งที่เรียนรู้ได้ด้วย การสอนวิธีช่วยความจำ เพื่อช่วยให้นักเรียนระลึกถึงสิ่งที่เรียนรู้ได้เท่านั้น จึงยังไม่พอ นักจิตวิทยาได้ค้นหาวิธีที่จะช่วยนักเรียนจดจำได้นาน ๆ โดยใช้วิธีที่เรียกว่า TACE (Topic, Area,Characteristic และ Example) และ วิธี Loci ผสมกัน
2.ยุทธศาสตร์การเรียนรู้อย่างสมบูรณ์แบบ วิธีเรียนรู้ที่ช่วยความจำด้วยวิธีนี้ ประกอบ ด้วย 2 ส่วน
1. การใช้สมาธิ (Concentration Management) นักเรียนและนักศึกษาได้รับการ สอนให้ใช้สมาธิฝึกตัวเองให้ผ่อนคลายความเครียด (Relax) และลดความกังวล (Anxiety) นอกจากนี้ยังสอนให้มีเป้าหมายเป็นความหวังว่าจะมีความสำเร็จ
2. แผ่นภาพเครือข่าย (Networking หรือ Mapping) ซึ่งมีวัตถุประสงค์ที่จะช่วยนนักเรียนให้สามารถที่จะได้ความคิดรวบยอดและหลักการจากสิ่งที่ตนอ่าน และสามารถจะหาความสัมพันธ์และเชื่อมโยงได้ ความสัมพันธ์อาจจะเรียงจากลำดับขั้นสูงไปหาต่ำ ตัวอย่างเช่น การเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องแร่ อาจจะเขียนเป็นเครือข่ายแดนเชอโรและคณะ (Dansereau et al, 1979) ได้ทำการทดลองใช้วิธีดังกล่าวกับนิสิตมหาวิทยาลัยโดยใช้เวลาฝึกหัดการใช้สมาธิและการสร้างเครือข่าย ปรากฎว่านิสิตที่อยู่ในกลุ่มทดลองสามารถทำคะแนนได้ดีกว่ากลุ่มควบคุมที่ไม่ได้รับการฝึกหัดระบบยุทธศาสตร์การเรียนรู้อย่างสมบูรณ์แบบ
สรุป ทฤษฎีวิธีช่วยความจำมีบทบาทสำคัญในการเรียนรู้ และถ้าสอนให้นักเรียนหรือนักศึกษาสามารถที่จะใช้วิธีช่วยความจำ เพื่อที่จะแน่ใจว่าสิ่งที่สอนให้นักเรียนหรือข้อมูลต่าง ๆ ที่ให้นักเรียนได้รับการเข้ารหัสบันทึกในความจำระยะยาว และสามารถที่จะเรียกมาใช้ได้ตามความต้องการทุกเวลา
อ้างอิงจาก
http://www.unigang.com/Article/3752